วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

การตลาดระหว่างประเทศ

การตลาดระหว่างประเทศ
ในภาวการณ์แข่งขันปัจจุบันธุรกิจจะต้องแข่งขันในหลายระดับ ทั้งแข่งขันกับคู่แข่งภายในประเทศและแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศ ทั้งคู่แข่งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งภาวการณ์แข่งขันดังนี้เอง ธุรกิจที่มีความสามารถและมีโอกาสในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศควรจะเริ่มพิจารณาช่องทางและโอกาสในการส่งสินค้า ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลให้ขยายกิจการสู่ต่างประเทศมี 5 ประการดังนี้

1. บริษัทคู่แข่งซึ่งเป็นธุรกิจข้ามชาตินำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า หรือมีราคาที่ถูกกว่าเข้าสู่ตลาดท้องถิ่น และธุรกิจสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดจากตลาดภายในประเทศ ทำให้ธุรกิจจำเป็นจะต้องหาตลาดในประเทศอื่น ๆ ทดแทนยอดขายที่สูญเสียไปจากการแข่งขันภายในประเทศ

2. ธุรกิจค้นพบว่าตลาดในบางประเทศสามารถทำกำไรให้กับธุรกิจได้มากกว่า ด้วยการกำหนดราคาขายที่สูงกว่าตลาดภายในประเทศ ดังจะเห็นได้ชัดจากธุรกิจในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องประดับ

3. ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตมีความจำเป็นที่จะต้องขยายฐานลูกค้าเพื่อให้ปริมาณการผลิตเข้าสู่จุดคุ้มค่าของการผลิต (Economy of Scale) ซึ่งขนาดตลาดภายในประเทศไม่เพียงพอ

4. ธุรกิจต้องการลดภาวะพึ่งพิงจากตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการเมืองต่ำไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงกว่า เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจ

5. บ่อยครั้งที่กิจการจะต้องขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ เนื่องจากลูกค้าหลักของธุรกิจขยายกิจการไปสู่ต่างประเทศและต้องการการบริการในประเทศนั้น ๆ ด้วย

โดยปรกติแล้ว การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศธุรกิจสามารถทำได้ 8 วิธี คือ
1. การส่งออกทางอ้อม(Indirect Exporting) คือการขยายตลาดผ่านคนกลาง หรือตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ ที่ซื้อสินค้าเพื่อการส่งออก วิธีการดังนี้ จะช่วยลดเงินลงทุนทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรอื่น ๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเข้าสู่ตลาดที่ผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจในลักษณะตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค สภาพทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และการเมือง ตลอดจนสภาวการณ์แข่งขันและอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม วิธีการขยายตลาดสู่ต่างประเทศวิธีการนี้มีข้อด้อยตรงที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมเหนือนโยบายการทำธุรกิจของตัวแทนจำหน่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงกับกลยุทธ์ทางการตลาดของกิจการในอนาคต เช่น การวางตำแหน่งตราผลิตภัณฑ์ (Brand Positioning) นโยบายราคา เป็นต้น

2. การส่งออกทางตรง (Direct Exporting) วิธีการนี้ธุรกิจจะมีแผนกขายระหว่างประเทศ (Exporting Department) ซึ่งแผนกดังกล่าวจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการหาลูกค้าหรือตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ วิธีการดังกล่าว ทำให้ธุรกิจจะต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจก็มีอำนาจในการควบคุมนโยบายการทำการตลาดในต่างประเทศมากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยมากกิจการจะใช้วิธีการขยายตลาดด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขายเป็นหลัก

3. การให้ใบอนุญาต ( Licensing ) การขยายธุรกิจลักษณะนี้ เจ้าของธุรกิจจะทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้โรงงานอื่นในต่างประเทศ ผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้า สิทธิบัตร หรือกระบวนการผลิตที่เป็นลักษณะเฉพาะของเจ้าของธุรกิจผู้ให้ใบอนุญาต โดยได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของสัญญาสัมปทาน ทั้งแบบที่เป็นเงินก้อน หรือผูกพันกับยอดผลิต/จัดจำหน่ายสินค้า การขยายตลาดในลักษณะนี้มีข้อดีในการจำกัดความเสี่ยงของธุรกิจได้ เช่นเดียวกับการส่งออกแบบทางอ้อม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมนโยบายทางธุรกิจของผู้รับสัมปทานได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สินค้าประสบความสำเร็จธุรกิจมีโอกาสที่จะขยายลูกค้าเพิ่มเติม หรือเข้ามาลงทุนด้วยตัวเองเมื่อหมดระยะเวลาสัมปทาน

4. เฟรนไชส์ (Franchising) เป็นรูปแบบการให้สัมปทานเช่นเดียวกับการให้ใบอนุญาต (Licensing) แต่จะมีข้อกำกับนโยบายและรูปแบบการดำเนินธุรกิจระบุควบคู่ไปในข้อสัญญาด้วย ดังนั้น ธุรกิจจะมีอำนาจในการกำหนดบังคับนโยบายทางการตลาดในขณะที่ผู้รับใบอนุญาตแทบจะไม่มีอำนาจในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขใด ๆ เลย นอกจากนี้ เฟรนไชส์ยังมีข้อดีเช่นเดียวกับการขยายตลาดแบบการให้ใบอนุญาต (Licensing) อีกด้วย

5. การจ้างผลิต (Contract Manufacturing) รูปแบบของการขยายธุรกิจในลักษณะนี้มีข้อดีอยู่ตรงที่เป็นการลดต้นทุนการนำเข้าของสินค้า ซึ่งรวมถึงลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน และลดข้อกีดกันทางการค้าในด้านการนำเข้าได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ใช้เงินลงทุนไม่มาก อย่างไรก็ตามการจ้างผลิตมีความจำเป็น
็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุมคุณภาพการผลิตและกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามข้อตกลงทีระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างดี รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการลักลอบนำสินค้าที่ผลิตเกินจำนวนหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานมาจำหน่าย

6. การร่วมลงทุน (Joint Venture) การลงทุนชนิดนี้เป็นรูปแบบของการไปร่วมลงทุนธุรกิจกับคู่ค้าเจ้าถิ่นในต่างประเทศ ในลักษณะของการถือหุ้นบริษัท ซึ่งธุรกิจจะนำความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์เข้าทำตลาดกับผู้ร่วมลงทุนในท้องถิ่นที่มีความรู้ความเข้าใจในตลาดท้องถิ่น ทั้งด้านพฤติกรรมผู้บริโภค วัฒนธรรมท้องถิ่น นโยบายทางธุรกิจ ซึ่งมีข้อดี คือ ธุรกิจสามารถควบคุมดูแลนโยบายทางการตลาดได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากทั้งธุรกิจและผู้ร่วมลงทุนต่างมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจ แต่ถึงกระนั้น นโยบายการทำตลาดอาจจะไม่เป็นไปตามที่ธุรกิจได้คาดหวังไว้ ถ้าหากผู้ร่วมลงทุน ไม่มีนโยบายทางธุรกิจที่สอดคล้องหรือไม่มีศักยภาพที่เท่าเทียมกัน

7. การซื้อกิจการ (Acquisition) เป็นรูปแบบของการขยายตลาดชนิดควบคุมนโยบายทางธุรกิจได้ในรูปแบบที่รวดเร็วที่สุด ข้อดีของการขยายตลาดแบบนี้ คือ ธุรกิจจะเข้าควบคุมกิจการที่ถูกซื้อและทรัพยากรทั้งหมด ทั้งในด้านโรงงาน โครงสร้างการจัดจำหน่าย ตราสินค้า และบุคคลากร อีกทั้งการเข้าตลาดด้วยวิธีนี้เป็นการลดจำนวนคู่แข่งไปด้วยในตัว ข้อเสียของการขยายตลาดด้วยวิธีนี้ คือ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายสูงควบคู่กับความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของการเข้ากันได้ของวัฒนธรรมองค์กรจากบุคคลากร 2 ประเทศ

8. การลงทุนโดยตรง ( Direct Investment) เป็นรูปแบบการขยายธุรกิจที่ธุรกิจจะมีอำนาจควบคุมนโยบายทางธุรกิจสูงที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงที่สุด และแบกรับความเสี่ยงในทุก ๆ เรื่อง ธุรกิจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเทศที่จะเข้าไปลงทุน เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปวัฒนธรรม พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพการแข่งขันของธุรกิจ จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในกิจการได้

กรณีศึกษา

การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ-กระทิงแดง

ภาพของชายวัยย่างเข้า 80 นุ่งกางเกงแพร สวมเสื้อ ใส่งอบ ขี่จักรยานคันโปรดด้วยท่าทางที่แข็งแรงคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไปรอบๆ โรงงานที่ย่านบางบอน ในทุกๆ เช้า มักเป็นที่คุ้นตาของคนทั่วๆ ไปในย่านนั้น หลายคนอาจจะรู้เพียงว่าชายสูงอายุร่างเล็กคนนี้เป็นผู้จัดการโรงงาน "กระทิงแดง" แต่คงไม่มีใครนึกมาก่อนว่าชายคนนี้จะเป็นมหาเศรษฐีที่รวยเป็นพันล้านหมื่นล้าน นี่คือกิจวัตรประจำวันทุกเช้าของของ "เฉลียว อยู่วิทยา" คนที่ได้ชื่อรวยติดอันดับโลก

“เฉลียว” ชอบขี่จักรยานตรวจโรงงานทุกๆ เช้า เท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ในการตรวจตราโรงงานแล้ว การขี่จักรยานยังเป็นยาวิเศษที่ทำให้ร่างการแข็งแรงด้วย เฉลียว หรือ โกเหลียว เป็นคนเชื้อจีน ปู่มาจากเมืองจีน ย่าเป็นคนไทย เป็นคนจังหวัดพิจิตรโดยกำเนิด เขาไม่ได้รำรวยชนิดคาบช้อนเงินคาบช้อนทองมาตั้งแต่เกิด ครอบครัวยากจน ต้องปากกัดตีนถีบ ช่วยพ่อแม่ทำงานกันตั้งแต่เด็กๆ ทำงานมาหลายอย่าง ขายทุเรียน ขายส้มโอ ฯลฯ ก่อนที่จะผลิกผันชีวิตมาค้าขายยารักษาโรคในช่วงสมัยสงครามโลก จากนั้นก็ขยับขยายมาตั้งโรงงานผลิตยาอยู่แถวๆ คลองหลอด ยาแก้ไข้ ที.ซี.มัยซิน ยาน้ำเบบี้ดอลล์ จากธุรกิจผลิตยาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โกเหลียว ก็หันมาเอาดีกับธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง แข่งกับบริษัทจากญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า "กระทิงแดง" เฉลียว เริ่มปลุกปั้น กระทิงแดง ตั้งแต่ตั้งชื่อ ออกแบบโลโก้ กระทิงแดงสองตัวหันหน้าวิ่งชนกัน เดินไปตามถนนเพื่อแจกให้ให้ลูกค้าชิมฟรีๆ ลองผิดลองถูกปรับสูตรจนลงตัว ก่อนจะเริ่มโปรโมตด้วยวลี ที่ว่า กระทิงแดง ซู่ซ่า...ซู่ซ่า ! ที่ใครๆ ก็พูดถึง หรือแม้กระทั่งเป็นเซลส์แมนเดินสายไปขายเองในต่างจังหวัด "โกเหลียว" สร้างกระทิงแดงขึ้นมาจากบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน จนกระทิงแดงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานร่วมพันคน ยิ่งไปกว่านั้นวันนี้ กระทิงแดง ผลิต-จำหน่ายสร้างตลาดในต่างประเทศโดยใช้ชื่อว่า เรดบูล (Red Bull) จนกระทั่งสามารถส่งเครื่องดื่มชนิดนี้ไปขายทั่วโลกในกว่า 70 ประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา อาฟริกา จีน ฯลฯ และมีโรงงานอยู่ในหลายๆประเทศ เช่น ออสเตรีย จีน เวียดนาม ฯลฯ จุดหักเหที่สำคัญที่สุดซึ่ง "ต่อยอด"ให้ธุรกิจเครื่องดื่ม กระทิงแดง-เรดบูล ก้าวกระโดดไปทั่วโลกและสร้างรายได้จนรวยมหาศาลเช่นทุกวันนี้ มาจากความกล้าในการตัดสินใจก้าวข้ามการแข่งขันภายในประเทศออกไปประกาศศักดิ์ศรีในเวทีตลาดโลกนั่นเอง อย่างไรก็ตามภารกิจที่สำคัญนี้คงจะไม่อาจประสบความสำเร็จได้ถ้าหากขาดผู้ร่วมลงทุนที่ดีอย่าง "ดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) เซลส์แมนชาวออสเตรีย ที่ได้รับการยอมรับในภายหลังว่าเป็นนักสร้างตลาด เรดบูล จนไต่ขึ้นชั้น โกลบอล แบรนด์ และเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มให้พลังงาน ( Energy Drink ) เกือบ 100 ประเทศทั่วโลก โดยอาศัยนวัตกรรมเครื่องดื่มให้พลังงานที่มีรากเหง้า จาก เครื่องดื่ม "กระทิงแดง" ของบ้านเรา

การขยายธุรกิจต่างประเทศของกระทิงแดงนั้นเริ่มจากการที่ "ดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz)ได้มาเห็นกระทิงแดงในเมืองไทยและได้ชักชวนให้ เฉลียว ไปลงทุนในต่างแดน โดยให้ฝ่ายไทยถือหุ้นใหญ่ โดยให้ฝ่ายไทยถือหุ้น 51% และ ดีทริช มาเตอชิทช์ ถือหุ้น 49% เนื่องจากเขามีความคิดว่าน่าจะนำ เครื่องดื่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ "เฉลียว" คิดค้นขึ้นมา และจำหน่ายในเมืองไทย ไปเผยแพร่ยังยุโรป

เรดบูล เริ่มผลิตและวางจำหน่ายในยุโรป โดยก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH. เมื่อ ปี 1984 โดยเริ่มจากผลิตและจำหน่ายในประเทศออสเตรียก่อน จากนั้นก็ค่อยๆขยายตลาดออกไปยังประเทศอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง

ถึงกระนั้น อนาคตที่สดใสที่แท้จริงเพิ่งเริ่มต้น และพัฒนาจากความคิดสู่การปฏิบัติ เมื่อปี 1987 เมื่อสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ เครื่องดื่มกระทิงแดง หรือ เรดบูล วางตลาดจำหน่ายสู่มือผู้บริโภค

ปัจจุบันเฉพาะฐานผลิตออสเตรีย สามารถผลิต เรดบูลออก จำหน่ายได้ 1.5 ล้านกระป๋อง ครอบคลุมเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก และประสบความสำเร็จในการทำตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละประเทศ ที่มีอัตราเฉลี่ยตั้งแต่ 65-90% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่ของสินค้าและการตลาด ที่ไม่มีคู่แข่งรายใดทำได้
สำหรับตลาดโลกในแต่ละปี เรดบูลมียอดขายถึง 900-1,000 ล้านกระป๋อง และถือเป็นหมายเลข 1 ของโลก สำหรับเครื่องดื่มบำรุงกำลัง


วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Foreign Direct Investment

แปลตามตัวก็คือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามความหมายดั้งเดิมหมายถึงบริษัทๆหนึ่งจากประเทศๆหนึ่ง ได้สร้างการลงทุนทางกายภาคโดยการสร้างหน่วยการผลิตในประเทศอื่น ซึ่งตามความหมายนี้ สามารถรวมไปถึงการลงทุนที่สร้างผลประโยชน์สุดท้ายในกิจการ นอกเหนือไปจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ลงทุน มีการศึกษาวิจัยปริมาณการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศโดยเริ่มตั้งแต่ปี 1945 โดยใช้ทฤษฏีของบริษัทข้ามชาติ(Theory of Multinational Corporation) อธิบาย เช่น ทฤษฏีดั้งเดิม H-O-S (Heckscher-Ohlin-Samuelson) สรุปว่า ประเทศที่มีปัจจัยทุนมาก มีทางเลือก อยู่ 2 ทาง ที่จะทำให้ ตนได้เปรียบทางการค้า คือการผลิตสินค้าที่มีลักษณะทุนเข้มข้น (คือใช้เงินหรือทรัพยากรในการผลิตที่สูง) ไปยังประเทศที่ไม่ได้เปรียบในการผลิตสินค้านั้น หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศแทน ทำให้เกิดการย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและไปผลิตสินค้าที่มีทุนเข้มข้นในประเทศเหล่านั้นแทน ดังนั้น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศเจ้าของทุนกับประเทศที่รับลงทุนจะมีปริมาณที่ลดลงแต่ทฤษฏีการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ได้มีการใช้แนวคิดขององค์กรอุตสาหกรรม ซึ่งแย้งกับทฤษฏีที่ผ่านมาคือ การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหรรมเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดได้มากขึ้นเมื่อผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้บางอุตสาหกรรมยังต้องมีการพึ่งพิงเทคโนโลยีเฉพาะทาง เทคโนโลยีแต่ละด้านช่วยส่งเสริมความสามารถหลักขององค์กรนั้นๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง และสามารถส่งออกสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการค้าระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลกับปริมาณการลงทุนในต่างประเทศ และขณะเดียวกันการลงทุนในต่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศตามมาด้วยเช่นกัน
หากเรามองในแง่ของวาทกรรม จะพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลจากวาทกรรมการพัฒนา คือเป็นการลงทุนจากประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้ประโยชน์จากวาทกรรมที่ตัวเองสร้างขึ้นให้ประเทศในโลกที่ 3 เห็นดีเห็นงามไปด้วยในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ แรงงานราคาถูก กฎหมายด้านการจักการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้มงวด ฯลฯ ใช้ข้อได้เปรียบในด้านของการมีเงินทุน แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการลงทุนต่างๆนานา เช่น จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน ฯลฯ ซึ่งประเทศโลกที่ 3 ก็มักจะเห็นด้วย เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ทัดเทียมเข้าใกล้ประเทศที่พัฒนาแล้ว
FDI ในไทยจากเอกสารประกอบการสัมมนาของดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ได้กล่าวว่า FDI ยุคแรกในไทยเกิดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1-2 ซึ่งเป็นยุคที่ผลิตทดแทนการนำเข้า เน้นหนักในสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมูลค่าสูง เนื่องจากนำเข้าชิ้นส่วนการผลิตและสินค้าทุนจำนวนมากแต่ไม่สามารถสร้างเงินตราต่างประเทศ และปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการผลิตเหตุการณ์ Plaza Accord ปี 2528 ที่ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศญี่ปุ่น มีค่าสูงขึ้นมาก ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนและประเทศสังคมนิยมในอินโดจีนยังไม่เปิดประเทศ จึงไม่มีคู่แข่งขันในการดึงดูด FDI ทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นผู้ลงทุนในไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่มาลงทุนในไทยจนถึงปัจจุบัน
ผลกระทบ ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ข้อดี 1.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทำให้เกิด การถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ความรู้ในรูปแบบต่างๆ2.ได้ในด้านการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีประสิทธิภาพ3.ได้ภาษี ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศ แต่ประเทศส่วนใหญ่มักมีการดึงดูดนักลงทุนโดยการลดหย่อนภาษี4.แรงผลักดันของสังคมของผู้ทีมีส่วนได้เสียที่มีมากขึ้นทำให้บริษัทข้ามชาติจำเป็นต้องมีนโยบายออกมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อเสีย1.ในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยี อาจมีการถ่ายทอดให้ไม่หมด ถ่ายทอดเพียงเฉพาะส่วนทำให้ไม่ได้เป็นการช่วยให้เกิดองค์ความรู้ต่อเรื่องการผลิตนั้นจริงๆ2.เป็นการสร้างความชอบธรรมในความต้องการดึงดูดทรัพยากร การขจัดอุตสาหกรรมที่ประเทศเหล่านั้นไม่ต้องการ3.กระทบต่อบริษัทภายในประเทศ เนื่องจากบริษัทข้ามชาติมักจะมีอำนาจทางการตลาดที่สูงกว่าบริษัทในประเทศ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้4.ประชาชนในประเทศที่รับการลงทุนมักจะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สุขภาพของประชาชนในบริเวณแหล่งอุตสาหกรรมเป็นต้น

แฟรนไชส์ คือ

นิยามของคำว่าแฟรนไชส์ (Franchise)แฟรนไชส์ คือ กระบวนการทางธุรกิจที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ ได้พัฒนาวิธีการและรูปแบบ จนได้รับการ พิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้วว่า ประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจในระดับหนึ่ง และถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าวพร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการ ให้กับบุคคลอื่นภายใต้ตราหรือเครื่องหมายการค้า / บริการอันหนึ่งอันใดโดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้อง กับการทำนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่มในข้างต้น ในบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่น นิยามของคำว่าแฟรนไชซอ แฟรนไชซอ คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้า / บริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้ว ว่าประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจ ที่สามารถทำเลียนและดำเนินการโดยบุคคลอื่นได้ นิยามของคำว่าแฟรนไชซี่แฟรนไชซี่ คือ บุคคลซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและการดำเนินธุรกิจ ภายใต้รูปแบบและตราหรือเครื่องหมายการค้า/ บริการ อันมีแฟรนไชซอเป็นเจ้าของ โดยแฟรนไชซี่ที่ร่วมกิจการไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานหรือลูกจ้าง ตรงกันข้ามแฟรนไชซี่จะเป็นเจ้าของกิจการที่ทำหน้าที่บริหารงานสาขาตามรูปแบบที่แฟรนไชซอกำหนดและ ถ่ายทอดให้ซึ่งผู้เป็นแฟรนไซซี่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าพนักงานโดยปกติเพราะผลสำเร็จหมายถึง เวลา จำนวนเงินที่ลงทุนไป

การค้าระหว่างไทยกับจีน

การค้าไทย-จีนในปี 2548 มีมูลค่า 20,343.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.31 ไทยส่งออก 9,183.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้า 11,159.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐการค้าไทย-จีนในปี 2549 มีมูลค่า 25,154.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75 ไทยส่งออก 11,708.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 13,445.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าเข้าจากไทยที่สำคัญสายอากาศและเครื่องสะท้อนสัญญาณทางอากาศ พลาสติก มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ที่เลื่อยแล้วสินค้าที่จีนส่งออกมาไทยที่สำคัญผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แผ่นเหล็กรีดร้อน เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย เงิน ตะกั่ว การลงทุนของไทยในจีน ณ ปี 2548 ไทยลงทุนในจีนรวม 95.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ธัญพืช ฟาร์มสัตว์ มอเตอร์ไซค์ โรงแรม ร้านอาหาร การนวดแผนไทย การลงทุนของจีนในไทย ณ ปี 2548 จีนลงทุนในไทยรวม 2,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานการลงทุนที่จีนได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ ประกอบด้วยกิจการก่อสร้าง การค้า ธนาคาร การแปรรูปโลหะ การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ สายการบิน เครื่องจักร ร้านอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

การค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE)

การค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE)
คอลัมน์ คลื่นความคิด สกล หาญสุทธิวารินทร์ มติชนรายวัน วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10467
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในคอลัมน์จอดป้ายประชาชื่น คุณวุฒิ สรา ได้เขียนเชียร์ให้ล้มบาร์เตอร์เทรด (BARTER TRADE) เนื่องจากบาร์เตอร์เทรด เป็นส่วนหนึ่งของเคาน์เตอร์เทรด หรือที่เรียกว่าการค้าต่างตอบแทน เลยจะถือโอกาสเล่าเรื่องเคาน์เตอร์เทรดเป็นการเสริมเพิ่มเติม
เคาน์เตอร์เทรด (COUNTER TRADE) หรือการค้าต่างตอบแทนคือ การที่ประเทศหนึ่งตกลงซื้อสินค้าจากอีกประเทศหนึ่ง เป็นการตอบแทนที่ประเทศนั้นซื้อสินค้าหรือบริการของตน การค้าต่างตอบแทนมีหลายวิธี แต่จะกล่าวถึงเฉพาะวิธีที่ไทยคุ้นเคยคือ
1.การแลกเปลี่ยนสินค้า (BARTER ) วิธีนี้เป็นวิธีขั้นปฐมคือ การใช้สินค้าแลกสินค้า หรือใช้สินค้าเป็นตัวชำระค่าสินค้า ที่ซื้อจากอีกประเทศหนึ่ง เช่น ประเทศ ก.ใช้น้ำมันแลกข้าว หรือใช้น้ำมันชำระค่าข้าว
2.การซื้อต่างตอบแทน (COUNTER PURCHASE) เป็นกรณีที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการไปยังอีกประเทศหนึ่ง ตกลงที่จะซื้อสินค้าตามที่กำหนดจากประเทศที่ตนขายสินค้าหรือบริการ
3.การซื้อกลับ (Buyback) คือ กรณีที่ผู้ขายอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ผลิตสินค้าตกลง ที่จะซื้อสินค้าที่ผลิตจากอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือที่ซื้อ จากตนเป็นการตอบแทน
4.ออฟเซท (OFFSET) เป็นการซื้อ-ขายที่ไม่ต้องใช้การชำระเงิน แต่ใช้การหักทอนบัญชีหรือหักกลบลบหนี้
การทำการค้าต่างตอบแทนมีจุดประสงค์หลักคือ เป็นการช่วยผลักดันการส่งออกสำหรับสินค้าที่ผลิตได้เกินความต้องการ หรือเป็นกรณีที่ประเทศผู้ซื้อขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสกุลหลัก หรือเป็นกรณีที่มีปัญหาไม่สามารถทำการซื้อขายกันได้ ตามช่องทางตลาดปกติ
สำหรับประเทศไทย เริ่มมีความคิดที่จะนำระบบการค้าต่างตอบแทนมาใช้ผลักดันการส่งออกสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ผลผลิตล้นตลาดตั้งแต่ปี 2522 ระยะแรก นำระบบแลกเปลี่ยน BARTER TRADE มาใช้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ต่อมาจึงหันมาใช้วิธีซื้อต่างตอบแทนเป็นหลัก มีการออกเป็นระเบียบปฏิบัติกำหนดให้ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จะทำสัญญาซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศที่มีวงเงิน ตั้งแต่สามร้อยล้านบาทขึ้นไป ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ขายต้องซื้อสินค้าเกษตรจากไทยเป็นการตอบแทนในอัตราที่กำหนด การซื้อสินค้าตอบแทน ไม่จำเป็นต้องซื้อเอง จะมอบหมายหรือหาผู้ซื้ออื่นมาซื้อก็ได้ ประเทศไทยหันกลับมาใช้วิธีการแลกเปลี่ยน อีกในปี 2548 ย้อนยุคยุ่งยากตามที่คุณวุฒิ สรา กล่าวไว้จริงๆ
ขณะนี้มีการประเมินกันแล้วว่า การค้าต่างตอบแทนทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น ไม่มีการซื้อตอบแทนจริง แต่มีการไม่สุจริต ใช้การซื้อใบเสร็จ หรืออินวอยซ์จากผู้ส่งออกตามทางการค้าปกติมาแสดง อาจกลายเป็นระบบที่เกิดใหม่ มีเฉพาะในประเทศไทย
คือ ระบบการซื้อใบเสร็จต่างตอบแทน

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การแสวงหาตลาดโดยผู้ส่งออกเอง (Direct Exporting)

การหาตลาดเพื่อการส่งออกโดยผู้ส่งสินค้าออก (Exporter) เอง มีดังนี้
1. Importers/Distributors เป็นการติดต่อกันระหว่างผู้ส่งสินค้าออกกับผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้า โดยตรง เป็นวิธีการดำเนินธุรกิจส่งออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจะสามารถควบคุมกระบวนการส่งออก และการตลาดได้อย่างดี มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าวิธีการส่งออกทางอ้อม นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ซื้อและตลาดเป้าหมาย แต่การส่งออกทางตรงนี้ผู้ส่งออกต้องทุ่มเทเวลา บุคลากร และทรัพยากรต่างๆ ในการดำเนินการอย่างจริงจัง ต้องมีการจัดองค์กรเพื่อรองรับธุรกิจส่งออกที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล
2. Overseas Selling Offices เป็นพัฒนาการของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ขั้นต่อมาจากการส่งออก ก็คือการทำการตลาดในตลาดเป้าหมายเอง วิธีที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การเข้าไปตั้งสำนักงานขายในประเทศนั้นๆ เพื่อบริษัทจะสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตลาดและวางแผนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มลูกค้าและผู้บริโภคด้วย
3. Overseas Investments/Joint Ventures ขั้นตอนต่อไปของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ จะมีการศึกษาโอกาสทางการค้า และการลงทุนในตลาดเป้าหมายอย่างดี เพื่อการลงทุนหรือร่วมลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเป้าหมาย ลดต้นทุนของการส่งออก และใช้ประโยชน์ของปัจจัยต่างๆ ที่มีในประเทศนั้นๆ เช่น ค่าแรงที่ต่ำกว่า วัตถุดิบที่มีราคาถูกและปริมาณมาก โอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น โดยใช้ประเทศดังกล่าวเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าต่อไป